“ชิบ…..มือถือตกน้ำ” ผมว่าผู้อ่านหลายคนน่าจะเคยอุทานคำนี้อย่างน้อย 1 ครั้ง เพราะสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนสมาร์ทโฟนกันบ่อยๆ ก็คือการทำตกน้ำ หรือ เจาะจงมากกว่านี้ก็คือ ทำตกส้วมนั่นเอง (ฮา)
หากคุณผู้อ่านเคยทำตกน้ำไม่ว่าจะที่ใดๆ ก็แล้วแต่ สบายใจได้ครับ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดกับคุณคนเดียว หลายๆ คนก็เคยโดย รวมทั้งผู้เขียนเอง ก็เคยทำไอโฟนรุ่นแรกตกน้ำมาแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังสามารถกู้ชีพกลับมาได้ แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้มันไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนเดิมอีกต่อไป วันนี้ก็เลยอยากจะขอนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาทำ “มือถือตกน้ำ” แบบถูกวิธี โดยวิธีต่างๆ ที่จะแนะนำต่อไปนี้ ควรทำทันทีหลังจากตกน้ำ และ อาจไม่สามารถแก้ปัญหา “มือถือแช่น้ำ” เป็นเวลานานเกินไปได้นะครับ
ขั้นแรกหลังจากที่คุณ “เก็บมือถือขึ้นจากน้ำโดยทันที” สิ่งที่ “ไม่ควรทำ” ก็คือ
- ห้ามเปิดเครื่อง (ในกรณีเครื่องดับไปแล้ว)
- ห้ามกดปุ่มใดๆ ทั้งสิ้น
- ห้ามเขย่า บางคนพอล้วงขึ้นจากน้ำได้ก็รีบเขย่าเอาน้ำออก แต่กลายเป็นว่าน้ำยิ่งซึมเข้าไปในส่วนอื่นๆ มากขึ้นไปอีก
- ห้ามแยกส่วนโทรศัพท์ ในทีนี้หมายถึงการแยกส่วนแบบขันน้อตแยกกันเลยทีเดียว เพราะหากคุณไม่เชี่ยวชาญพอ จะกลายเป็นว่า โทรศัพท์เจ๊งเพราะการแยกส่วน ไม่ใช่เพราะโดนน้ำ
- อย่าเป่าให้แห้งด้วยไดเป่าผมร้อนๆ หรือพัดลมแรงๆ เพราะมันจะพัดละอองน้ำให้เข้าไปทำความเสียหายชิ้นส่วนอื่นๆ ที่อยู่ด้านในมากขึ้น และความร้อนจากไดเป่าผมก็จะทำให้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไวต่อความร้อนเสียหายได้
- ข้อนี้คิดว่าคงไม่มีใครอุตริทำ แต่เตือนไว้ก่อน นั่นคือเอาไปเข้าไมโครเวฟ หรือ เอาไปอังบนเตาไฟ อย่าเป็นอันขาด
สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ
- ถ้าเครื่องยังเปิดอยู่ ให้ปิดเครื่องโดยการกด Power off นะครับ ถ้ากด Power off แล้วเครื่องปิดได้ปกติ ก็อุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่ายังไม่เสียหายมากนัก
- วางโทรศัพท์ในแนวตั้ง เพื่อให้น้ำไหลออกรูด้านล่าง อย่าวางแนวนอน เพราะน้ำจะยิ่งขังข้างใน
- ถ้ามีเคส ก็เอาออกซะ
- ถอดเอา microSD และ SIM การ์ดออก
- เปิดฝาหลัง เอาแบตเตอรี่ออก แต่ถ้าเป็นโทรศัพท์ที่ถอดแบตเตอรี่ไม่ได้ ก็ข้ามไปครับ
ยินดีด้วยครับ กับผู้ใช้ที่เปิดฝาหลัง ถอดแบตเตอรี่ได้สะดวก เพราะคุณได้ลดความเสี่ยงจากการที่แบตเตอรี่เสียเมื่อตกน้ำไปได้มากทีเดียว
- ค่อยๆ เอาผ้าแห้งมาซับน้ำโดยรอบ
- ถ้าเห็นว่ายังมีหยดน้ำขังอยู่ตามร่อง ขอบ หรือรูเล็กๆ ให้ใช้ที่ดูดฝุ่น ดูดเอาน้ำออกมา หรือถ้าไม่มีที่ดูดฝุ่น อาจใช้หลอดฉีดยาค่อยๆ ดูดออกก็ได้ หรือจะใช้สำลีพันปลายไม้จิ้มฟันค่อยๆ แหย่ตามร่องก็ได้
- เอาข้าวสารใส่ถ้วยหรือแก้วที่สูงพอหรือจะใส่ถุงซิปก็ได้ แล้วเอาโทรศัพท์ฝังลงไปในข้าวสารให้มิด เพราะข้าวสารมีคุณสมบัติดูดความชื้นได้ หลังจากนี้ให้เอาข้าวสารไปหุงกินต่อนะครับ อย่าไปเทเก็บกลับถังเดิม เพราะมันชื้นแล้ว ถ้าเก็บไว้เดี๋ยวขึ้นรา
หลังจากซับน้ำส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว ฝังโทรศัพท์ไว้ในข้าวสารเพื่อดูดความชื้นออกอีกที
- มีอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ถุงซับแห้ง” ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยซับน้ำออกจากอุปกรณ์โทรศัพท์เปียกน้ำ ก็สามารถใช้ถุงนี้ช่วยซับน้ำออกจากโทรศัพท์ได้อีกรอบ หน้าตาของถุงดังกล่าวก็เป็นดังภาพครับ (ในไดโซะทุกอย่าง 60 บาท น่าจะมีมั้ง)
หน้าตาของถุงซับแห้ง ใช้ได้ทั้งกับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต
- ทิ้งไว้ซัก 2-3 วัน เพื่อให้แน่ใจว่าแห้งสนิทจริงๆ อย่าเพิ่งใจร้อนรีบเปิดนะครับ เพราะอุปกรณ์ไฟฟ้าถ้ายังไม่เปิดทำงานให้มีไฟฟ้าไหลเข้า ถึงแม้เปียกน้ำอยู่ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเปิดในขณะที่เปียกมันจะช็อตครับ อันนี้พังแน่นอน
- หลังจากพ้นสามวัน ก่อนเปิดเครื่อง ให้เช็ครอบเครื่องให้แน่ใจว่าแห้งสนิทไม่มีละอองน้ำเหลืออยู่แล้วจริงๆ
- ใส่แบตเตอรี่กลับเข้าไป และลองเปิดเครื่อง ถ้าเปิดติดปกติ ให้ลองลำโพงโดยการเปิดเพลง และลองทัชสกรีนว่าทำงานปกติอยู่หรือไม่
- แต่ถ้าเปิดไม่ติด ให้ลองชาร์จไฟดูครับ ว่าชาร์จเข้าหรือไม่ ปกติจะแสดงที่หน้าจอหรือไฟ LED หน้าเครื่อง ขึ้นอยู่กับโทรศัพท์แต่ละรุ่น ถ้าชาร์จไฟเข้า ก็รอชาร์จให้เต็ม แต่ถ้าชาร์จไม่เข้า อาจเป็นได้ 2 กรณี หนึ่งแบตเตอรี่เสีย ให้ลองเปลี่ยนแบตเตอรี่ดู กับสอง โทรศัพท์เสีย อันนี้คงต้องถึงมือช่างผู้ชำนาญการแล้วล่ะครับ
ถ้าชาร์จไฟเข้า ก็อุ่นใจได้มากขึ้นว่ายังใช้ได้อยู่ อย่างน้อยแบตเตอรี่ก็ไม่เสีย
- แต่ถ้าเครื่องมีไฟเข้า เปิดติด ให้สังเกตการใช้งานต่อไปอีกซักวัน สองวัน ถ้าพ้นช่วงนี้ไปแล้ว ยังปกติ ก็ยินดีด้วยครับ โทรศัพท์คุณกลับมาใช้งานได้เหมือนเดิมแล้ว
ถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนเสี่ยงกับน้ำ แนะนำให้ใช้เคสกันน้ำโลด ล้อมคอกก่อนวัวหาย
ก็หวังว่าวิธีการทั้งหมดที่กล่าวไปแล้ว อาจช่วยให้คุณกู้ชีพมือถือสุดรักของคุณกลับมาใช้งานได้ดังเดิม อันนี้ยกเว้นกรณีตั้งใจทำหล่นเพราะอยากอ้อนแฟนเปลี่ยนเครื่องใหม่นะครับ