แซส ซอฟท์แวร์ ร่วมกับ สวทช. สสวท. โรงเรียนมหิดลฯ และสพฐ. เปิดตัวโครงการ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ (SAS Curriculum Pathways) ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยเป็นบทเรียนออนไลน์ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ช่วยเสริมทักษะการเรียน และการวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ มีโรงเรียนในประเทศไทยนำไปใช้แล้วกว่า 60 แห่ง
รศ. ดร. คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานโครงการ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ (SAS Curriculum Pathways) ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่า ด้วยบริษัท แซส อินสติทิวท์ อิงค์ (SAS Institute, Inc.) เป็นบริษัทที่พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลทางธุรกิจที่มีชื่อเสียงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ได้พัฒนาบทเรียนออนไลน์เพื่อการศึกษา ชื่อว่า แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ (SAS Curriculum Pathways) ผ่านเว็บไซต์ https://www.sascurriculumpathways.com/ มีความประสงค์ทูลเกล้าฯ ถวายบทเรียน แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ (SAS Curriculum Pathways) แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานต่อยังโรงเรียนในประเทศไทยตามพระราชอัธยาศัยเมื่อปี 2553 โดยมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และบริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ร่วมศึกษาบทเรียนและดำเนินงานโครงการเพื่อใช้ในโรงเรียนในประเทศไทย
ดร. ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า ภายหลังจากการศึกษาบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์แล้ว เห็นว่าเป็นเนื้อหาบทเรียนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างยิ่งและเข้าใจง่าย โดยเฉพาะด้านสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับสั่งว่า มีเนื้อหาที่วิเคราะห์ที่ดีมาก หากได้นำมาใช้ก็น่าจะเป็น
ประโยชน์ ดังนั้นหน่วยงานสวทช. สสวท. สพฐ. และบริษัท แซส จึงเล็งเห็นประโยชน์ของแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ ที่มีวิชาสอดคล้องกับการเรียนการสอนในหลักสูตรการศึกษาไทย จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการตามแนวพระราชดำริฯ โดยส่งเสริมให้
โรงเรียนต่างๆ ได้รู้จักบทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ และเข้าใช้งานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในปี 2553 มีโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา 10 แห่งเข้าร่วมนำบทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ไปนำร่องใช้งานในระยะแรก และเพิ่มขึ้นเป็น 65 โรงเรียน ในปี 2555 และคาดหวังว่าจะเพิ่มเป็น 195 โรงเรียนภายในอีก 2 ปี
“การนำบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ มาใช้ในโรงเรียนในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียนได้เข้าไปเรียนรู้เนื้อหาเพื่อเสริมบทเรียนที่เรียนอยู่ในปัจจุบัน โดยครูสามารถได้แนวคิดการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์และกระตุ้นให้แสวงหาความรู้เพิ่มเติม สำหรับนักเรียนสามารถพัฒนาความคิดทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม และประวัติศาสตร์ และยังช่วยพัฒนาศักยภาพการใช้ภาษาอังกฤษได้มากขึ้น และแม้ว่าบทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ จะเป็นสื่อที่ไม่ได้ผลิตขึ้นตรงตามหลักสูตรของประเทศไทย แต่ครูสามารถเลือกเฉพาะบทเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย และนักเรียนยังมีโอกาสได้รับประโยชน์จากการศึกษาความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากบทเรียนในหลักสูตรอีกด้วย นอกจากนี้เพื่อให้ผู้ใช้บทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ ได้มีเวทีในการแลกเปลี่ยนแนวทางการใช้บทเรียนนี้ในวิชาต่างๆ ทางสวทช.จึงได้จัดเตรียมเครื่องมือ โซเชียล เน็ตเวิร์ค หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ค และ Ning.com ไว้เพื่อให้คณะครูอาจารย์ได้ร่วมกันแบ่งปันแนวทางการใช้บทเรียนนี้ในวิชาต่างๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งในขณะนี้มีโรงเรียนได้ใช้ประโยชน์จากโซเชียล เน็ตเวิร์ค เป็นเสมือนห้องเรียนออนไลน์ในการสื่อสารกันระหว่างครูกับนักเรียนอีกด้วย” ดร. ทวีศักดิ์ กล่าว
ด้านนายทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท แซส อินสติทิวท์ อิงค์ (SAS Institute, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของแซส ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ในปี 2551เพื่อให้นักศึกษาและนักเรียนในสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปศึกษาบทเรียนด้วยตนเองใน 5 สาขาวิชา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมและประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และภาษาสเปน ได้ในทุกที่ทุกเวลาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันมีครูจำนวน 70,000 คนและโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา 18,000 แห่งนำไปใช้งานแล้ว
ทั้งนี้บทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อสังคม โดยมุ่งหวังให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ในทุกทีทุกเวลา และเตรียมความพร้อมของนักเรียนในการเข้าสู่การศึกษาในระดับวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย อีกทั้งเพื่อเข้าสู่สังคมฐานความรู้ทางออนไลน์
“จากความสำเร็จในการนำบทเรียนทางออนไลน์ไปใช้ในสหรัฐอเมริกา บริษัทฯจึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำบทเรียนดังกล่าวมาใช้ในโรงเรียนในประเทศไทย เพื่อเป็นการเสริมเนื้อหาหลักสูตรการศึกษาในประเทศไทย โดยได้ทูลเกล้าฯ ถวายบทเรียน แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ ดังกล่าวแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานต่อยังโรงเรียนในประเทศไทยตามพระราชอัธยาศัย” นายทวีศักดิ์ กล่าว
ดร. พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ศึกษาบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ ปรากฏว่า เป็นบทเรียนที่เข้าใจง่าย เนื่องจากมีภาพประกอบบทเรียนที่ใช้กราฟิกสวยงาม ทำให้ไม่รู้สึกเบื่อในการเรียนรู้ นอกจากนั้นยังสามารถปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้เป็นอย่างดี โดยทางสสวท. ได้จัดทำคู่มือการใช้และการจัดอบรมให้แก่โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีจากโรงเรียน ครู และนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
“คุณลักษณะของบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ ประกอบไปด้วยเครื่องมือช่วยในการเรียนรู้หลากหลาย ทั้งแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้ (Interactive) และแบบดั้งเดิม (Traditional) ที่มีการสอนแบบบรรยายและมีเอกสารให้อ่านได้ การจัดเรียงเนื้อหาอย่างเป็นระบบทั้งแผนการเรียนการสอน กิจกรรมออนไลน์ แบบจำลอง และทรัพยากรในเว็บไซต์ที่เน้นการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะสำคัญในเนื้อหานั้นๆ สืบค้นง่ายไม่ซับซ้อน มีคำแนะนำให้ปฏิบัติทุกขั้นตอน มีความยากง่ายหลายระดับ มีการออกแบบให้ครูทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Teaching Facilitator หรือ Coach) ให้แก่นักเรียน สามารถยืดหยุ่นในการนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความถนัด บริบทของห้องเรียน และดุลยพินิจของครูอีกด้วย” ผู้อำนวยการสสวท. สรุปความคืบหน้าการทำงานและจุดเด่นของบทเรียน
ผศ. ดร. ยุวดี นาคะผดุงรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ตามที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่า เนื้อหาวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ของบทเรียน แซส เคอริคูลัม พาธเวย์นั้นมีการวิเคราะห์ที่ดี และน่าจะเป็นประโยชน์หากมีการนำไปใช้ ดังนั้นโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์จึงได้สนองพระราชดำริ โดยสนับสนุนนักวิชาการด้านสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ คือ อาจารย์วชิราวรรณ บุนนาค หัวหน้าสาขาวิชาสังคมศึกษาและศิลปะ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ให้มีส่วนร่วมในการศึกษานำร่องการใช้บทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ และวิเคราะห์ว่า จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนวิชาสังคมศึกษาและประวัติศาสตร์ได้อย่างไร โดยเฉพาะกิจกรรมลักษณะ Inquiry หรือการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ ตลอดจนได้ร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การใช้งานให้แก่ครูในโรงเรียนต่างๆ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในการประยุกต์ใช้บทเรียนแซส เคอริคูลัม พาธเวย์ และสามารถนำไปใช้จัดการเรียนการสอนตามบริบทโรงเรียนของตนได้ต่อไป
ยินดีและดีใจที่จะได้ร่วมการเสวนา SAS Curriculum Pathways.