กรุงเทพ – นับเป็นครั้งแรกที่ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA ได้เข้าร่วมเปิดบูธโชว์ศักยภาพทางด้านซอฟต์แวร์ในงาน BOI FAIR 2011 ระหว่างวันที่ 5-13 มกราคม 2555 ภายในอาคารชาแลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยี ทางด้านอุตสาหกรรม ที่เป็นปัจจัยสำคัญของการเดินหน้าเศรษฐกิจในประเทศไทย
โดย SIPA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับธุรกิจในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิต การกระจายสินค้า ระบบคลังสินค้า ที่ซอฟต์แวร์เข้าไปมีบทบาท ทุก ๆ ภาคส่วนของธุรกิจ ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว การเกษตร การขนส่งสินค้า การศึกษา สุขภาพ อัญมณี และดิจิทัลคอนเทนต์ ที่ซอฟต์แวร์เข้ามามีส่วนช่วยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ได้อย่างทัดเทียม
เพื่อเป็นการลดต้นทุนมหาศาลในการนำเข้าซอฟต์แวร์ที่วิจัย และพัฒนามาจากต่างประเทศ SIPA จึงได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในเรื่องของการพัฒนาซอฟต์แวร์มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของอุตสาหกรรมในประเทศ และกระตุ้นให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง ด้วยไอที
ดร.นิรชราภา ทองธรรมชาติ รองผู้อำนวยการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการซิป้า ชี้แจงว่า “การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้พลังงานที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เราจึงเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความรู้ในเรื่องของ Green IT ไปด้วย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้มีแนวความคิดในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานของประเทศ
ในภาพรวมได้เช่นกัน โดยทางซิป้าเองได้มีการสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านไอที ที่มีการใช้ พลังงานน้อยที่สุดอีกด้วย ”
ดร.นิรชราภา ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ ในงานจะมีการแสดงผลงานซอฟต์แวร์ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจเกษตร การขนส่งสินค้า การศึกษา สุขภาพ อัญมณี และดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทย การพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อเข้ามาช่วยรองรับระบบการจัดการ และการผลิตสินค้าถือเป็นการเพิ่มเม็ดเงินเข้ามาให้กับประเทศไทยได้อย่างมาก” ซึ่งจะสามารถดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติมาร่วมทุนได้มหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวมีตัวเลข GDP ถึง 8-9 แสนล้านบาท โดยภายในงานจะมีการโชว์เทคโนโลยีซอฟต์แวร์ด้านการท่องเที่ยว แนวคิดในการสร้างเศรษฐกิจผ่านช่องทางนี้ด้วย และอีกหนึ่งยุทธ์ศาสตร์ใหม่ของหน่วยงาน คือ “ความร่วมมือของทุก ๆ องค์กร หน่วยงานพันธมิตร การสร้างโมเดล เพื่อนำโมเดลต่าง ๆ ไปต่อยอดทางธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ
ส่วนคุณปริญญา กระจ่างมล รองผู้อำนวยการ ซิป้า กล่าวว่า “ผมคาดหวังจากงานนี้ว่า ในตัวอุตสาหกรรมเอง ได้มีการโชว์ศักยภาพด้านการผลิต ประสิทธิภาพ ที่ดีของตัวเองออกมาอยู่แล้ว ที่ทุกคนสามารถสัมผัสได้ด้วยตา และในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจด้านต่าง ๆ ท่านจะได้รับทราบว่า ‘ซอฟต์แวร์’ สามารถช่วยธุรกิจของท่านได้มากมายขนาดไหนในการลดต้นทุน ทุนแรง และสร้างรายได้ ผมก็อยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาดูกันว่าซอฟต์แวร์จะมาช่วยซัพพอร์ตธุรกิจได้ขนาดไหน และอยากให้ User มาดูความสามารถของคนไทยด้วยกันว่าเวิล์ดวายด์ ไปได้ทั่วโลกแล้ว ด้วยราคาที่สมเหตุผล สมผล” และยังตบท้ายอีกด้วยว่า “อินเตอร์เน็ตไปถึงที่ไหน ?? ทั่วโลกมีใช้ ซอฟต์แวร์ไทย ก็สามารถไปได้ถึงทั่วโลกด้วยเช่นกัน”
มาถึงตัวแทนผู้ประกอบการ พัฒนาด้านซอฟต์แวร์ทั้ง 2 ท่าน คุณทักษะ บุนนาค Executive Director บริษัท AISOFT ตัวแทนจาก Cluster Tourism และคุณอภิรักษ์ เชียงเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท Double M Technology Management จำกัด กล่าวร่วมกันว่า “ขอพูดในนามสมาคมซอฟต์แวร์ว่า เมื่อพูดถึงเทคโนโลยีมันไปตกอยู่ที่ต่างประเทศหมด งานนี้เรามีเทคโนโลยีที่เทียบเท่าเวิล์ดคลาสโดยฝีมือคนไทยมาแสดงโชว์ภายในบูธ ส่วนในภาคการท่องเที่ยวซอฟต์แวร์จะเข้ามามีรองรับในการลดขั้นตอนที่ซับซ้อนต่างๆ ในด้านการท่องเที่ยว ทั้งการเช็คราคาสายการบิน การจองจากในและนอกประเทศ ระบบการต้อนรับ ควบคุมระบบทราเวลเซอร์วิส ร้านอาหาร สปา และโซเชียล มีเดียที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีเรื่องของ Green IT และ Electonic Ticket จะเข้ามาลดการใช้กระดาษจำนวนมหาศาลลง ” และในเรื่องของธุรกิจด้านอื่น ๆ “เรื่องของดีเทลสินค้า คอนซูมเมอร์ซัพพลายจำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์เข้ามาซัพพอร์ตเฉาพะเรื่องมากมาย เช่นธุรกิจอาหาร ต้องมีดีเทลหลายเรื่องทั้ง สต็อก ขนส่ง จำหน่าย และผมมองว่างานนี้เหล่าจะได้เห็นเทคโนโลยีเหล่านี้มาอยู่รวมกัน และผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ก็จะได้มาพบกับซอฟต์แวร์ที่จะเข้ามาช่วยในธุรกิจของคุณ”
โดยการแสดงในบูธนั้นได้สะท้อนแนวความคิดในการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับการใช้งาน รวมทั้งยังยกย่องนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยที่มีความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถ ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจาก SIPA อีกด้วย นอกจากนี้ยังแสดงศักยภาพผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีทัชสกรีน อินเตอร์แรกทีฟ มัลติทัช และฮาโรแกรมเป็นซอฟต์แวร์ที่พัฒนา โดยฝีมือคนไทย ที่ถูกนำมาใช้ในการถ่ายทอดเนื้อหาตามจุดแสดงต่างๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ กว่า 50 ราย รายได้เข้าร่วมแสดง นิทรรศการภายในบริเวณงานด้วย โดยแบ่งออกเป็น 4 โซน คือ โซนเพลินใจ โซนตั้งใจ โซนภูมิใจ และโซนได้ใจ ภายในงานยังได้จัดให้มีการเสวนาทางธุรกิจให้ความรู้จากบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง
ในวงการไอที ทั้งในและต่างประเทศอย่าง Mr.Mitsuru Aoyama ที่ถือว่าเป็น สตีฟ จ๊อบในวงการ Cloud ในญี่ปุ่น และ Mr. Takeshi Kimura ผู้เชี่ยวชาญอีกท่าน ที่มาแนะแนวทางและให้ความรู้กับผู้ประกอบการ รวมทั้งยังมีการจัดเจรจาทางธุรกิจ เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ และต่อยอดผลงาน การผลิตซอฟต์แวร์ ที่จะนำไปใช้กับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ โดยการลดต้นทุนการนำเข้าซอฟต์แวร์ จากต่างประเทศ และขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต ด้วยความร่วมมือของคนไทยด้วยกันเอง